การทำความสะอาดและอาบน้ำม้า
การทำความสะอาดม้า (Horse Grooming) และการอาบน้ำม้า (Horse Bathing) ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้
การทำความสะอาดม้าหลังจากที่ม้าออกกำลังกายทุกครั้ง และ การอาบน้ำม้าเป็นครั้งคราวมีประโยชน์และสำคัญดังนี้
-เป็นการตรวจสอบสุขภาพของม้า เช่นแผล, อาการบวม, อาการบาดเจ็บ,
การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์ (เช่นภาวะซึมเศร้า) ซึ่งสามารถบ่งชี้ม้าที่มีอาการป่วยได้
-ลดโอกาสของการเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคผิวหนังและการติดเชื้อต่างๆ
-ช่วยลดความร้อนที่เกิดจากการเสียดสีของอุปกรณ์ขี่ม้ากับผิวหนังม้า
-ช่วยส่งเสริมให้ม้ามีสุขภาพผิวหนังและขนที่ดี
-ช่วยให้ม้าผ่อนคลาย และมีสุขภาพจิตที่ดี
-ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ขี่กับม้า
อุปกรณ์ทำความสะอาดม้า
เมื่อเรารู้ถึงจุดประสงค์และความจำเป็นในการทำความสะอาดและดูแลรักษาร่างกายม้าแล้ว อุปกรณ์ในการทำความสะอาดพื้นฐานที่เราควรจะต้องมีสำหรับม้าแต่ละตัว (ไม่ควรใช้อุปกรณ์ร่วมกันสำหรับม้าหลายตัว เพราะโรคผิวหนังของม้าสามารถติดต่อกันได้) มีดังต่อไปนี้
1. หวี, แปรงเคอรี่ (Curry Comb)
เป็นอุปกรณ์อย่างแรกที่ใช้ในการทำความสะอาดม้า ใช้ในการเอาสิ่งสกปรกใหญ่ๆ เช่น โคลน เศษหิน ดิน ทรายต่างๆ ออก
โดยการถูหรือนวดเป็นทิศทางรูปวงกลมเบาๆเพื่อให้สิ่งสกปรกเหล่านั้นที่แกะตัวอยู่บนขนหรือผิวหนังของม้าแตกตัวและ
หลุดออกได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการนวด เพื่อกระตุ้นการไหลเวียน โลหิตและกระตุ้นต่อมใต้ผิวหนังม้าให้สร้าง น้ำมันธรรมชาติด้วย
หวีเคอรี่สามารถแบ่งตามวัสดุที่ใช้ทำได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ได้แก่
1.1 หวีเคอรี่ยางแข็ง, แปรงยางแข็ง (Rubber curry comb)
มักจะเป็นวัสดุยางที่มีสีดำ มีซี่ฟันเรียงตัวอยู่ด้านนึง อีกด้านเป็นที่จับ
แปรงยางแข็งประเภทนี้ นิยมใช้บริเวณลำตัวเม้าเท่านั้น ไม่ควรใช้กับ
บริเวณส่วนของหน้าแข้งและหัวของม้าที่มีความบอบบางสูง
1.2 หวีเคอรี่ยางนิ่ม, แปรงยางนิ่ม (Jelly curry comb)
มักจะเป็นวัสดุยางใสมีสีต่างๆกันไป แปรงยางนิ่มนี้
มีความยืดหยุ่นและอ่อนโยนในการทำความสะอาดม้า
มากกว่าแบบยางแข็ง มีทั้งรูปแบบที่ใช้มือสวมด้านหนึ่ง
(รูป 2) และแบบที่เป็นถุงมือ ( รูป 3) ซึ่งมีด้านที่เป็นปุ่มหยาบสำหรับ
การทำความสะอาดบรเวณตัวและปุ่มละเอียดซึ่งมีความอ่อนโยน
พอสำหรับใช้ทำความสะอาดบริเวณหน้าแข้งและหัวของม้าได้
(รูป 2) (รูป 3)
1.3 หวีเคอรี่พลาสติก, แปรงพลาสติก (Plastic curry comb) มีความยืดหยุ่น และความนุ่มนวลในการทำความสะอาดน้อยกว่าแบบยาง
มีน้ำหนักเบาและมีราคาถูกกว่าหวีเคอรี่ประเภทอื่นๆ
1.4 หวีเคอรี่โลหะ, แปรงโลหะ (Metal curry comb or Fitch curry comb)
แปรงโลหะนี้มักจะทำจากสแตนเลส หรือเหล็กรมควัน สามารถทำความสะอาดสิ่งสกปรกใหญ่ๆ เช่น โคลนหรืออื่นๆ ได้ดี
แต่จะต้องมีความระมัดระวังในการใช้สูง ไม่ควรใช้สัมผัสกับผิวหนังของม้าโดยตรงเพราะซี่ฟันโลหะมีความคม อาจจะทำให้ม้าเจ็บและเป็นแผลได้ หวีโลหะยังนิยมนำมาประยุคใช้ในการทำความสะอาดแปรงขนม้าที่มีขนม้าติดอยู่ โดยการนำแปรงขนม้าที่มีขนม้าติดอยู่มาขัดกับแปรงโลหะนี้ในลักษณะแนวขวางเพื่อให้ขนม้าที่ติดแปรงหลุดออก
2. แปรงแดนดี้หรือแปรงขนแข็ง (Dandy brush or Hard-bristled brush)
หลังจากที่ใช้หวีเคอรี่กำจัดสิ่งสกปรกใหญ่ๆ และตีให้สิ่งเหล่านั้นแตกตัวแล้ว
ลำดับต่อมาก็คือการใช้แปรงขนแข็งขจัดสิ่งสกปรกเหล่านั้นที่ยังเหลืออยู่ โดยแปรงในทิศทางที่ขนม้างอกหรือแปรงจากด้านหัวของม้า
ไปทางหางม้าในลักษณะสั้นๆ แล้วสะบัดเอาสิ่งสกปรกนั้นๆออกจากตัวม้า (ไม่ควรแปรงทวนขนม้าเพราะจะทำให้ม้าเจ็บและขนดีอาจหลุดล่วงได้)
นอกจากแปรงขนแข็งจะช่วยในการขจัดสิ่งสกปรกแล้ว ยังช่วยกำจัดขนม้าที่ตาย
แล้วให้หลุดออก เพิ่อให้ม้าสร้างขนใหม่ที่แข็งแรงมาทดแทนด้วย
ขนแปรงแข็งนี้ทำมาจากวัสดุได้หลายประเภท วัสดุที่ดีที่สุดคือ ลำต้นข้าว แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้แบบขนแปรงที่ทำมาจากพลาสติกสังเคราะห์มากกว่า
เพราะราคาไม่แพงและหาได้ง่าย
นอกจากนี้บางผู้ใช้ยังสามารถนำแปรงขนแข็ง (แดนดี้) ใช้ในการแต่งขนม้าให้เป็นลวดลายต่างๆ ได้อีกด้วย (Quarter Marks) ซึ่งเป็นการหวีหรือแปรงขนม้าในทิศทางที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดรูปร่างหรือลวดลายต่างๆ
3. แปรงลำตัวหรือแปรงขนอ่อน (Body Brush or Soft Brush)
แปรงขนอ่อนใช้แปรงเพื่อขจัดสิ่งสกปรกและฝุ่นละอองเล็กๆ ที่เหลืออยู่ หลังจากใช้แปรงขนแข็งทำความสะอาดสิ่งสปรกขนาดใหญ่แล้ว
การใช้แปรงขนอ่อน จะช่วยเพิ่มความเงางามให้กับขนม้าและเป็นการผ่อนคลาย
ให้กับตัวม้าเองด้วย ขนของแปรงชนิดนี้ มีความอ่อนนุ่มแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัสดุ
ที่ใช้ทำ ขนแปรงอ่อนนิยมทำมาจากเส้นใยสังเคราะห์, ขนแพะ, ขนหมูป่า, และขนม้า
ซึ่งขนแปรงที่ทำจากขนม้าจะมีความนุ่มมากที่สุด และเหมาะสำหรับใช้เป็นแปรงทำ
ความสะอาดบริเวณหน้าของม้าซึ่งต้องการความอ่อนนุ่มสูง อย่างไรก็ตาม ต้องหลีกเลี่ยง
การแปรงบริเวณรอบดวงตาด้วย
4. ผ้าทำความสะอาดหรือผ้าขนหนู (Grooming rag or Towel)
นับว่าเป็นเครื่องมือขจัดสิ่งสกปรกชิ้นสุดท้ายและยังนิยมใช้สำหรับเช็ดเหงื่อหลังจากการขี่หรือจากกิจกรรมที่ทำให้เกิด
เหงื่อได้อีกด้วย วัสดุที่นำมาทำผ้ามีทั้งผ้าลินิน ผ้าเทอรี่ (Terrycloth Towel) เป็นผ้าที่ทอหรือถักให้เป็นห่วงหรือเป็นวงเพื่อให้ซับน้ำได้มากกว่าผ้าอื่นๆทั่วไป
5. หวีขนแผงคอและหางม้า (Mane brush or comb)
ขนแผงคอม้าหรือหางม้าที่มีลักษณะขนสั้น ควรเลือกใช้หวีที่ทำจากวัสดุพวกพลาสติกหรือโลหะที่มีซี่ฟันกว้าง
แต่ถ้าขนแผงคอม้าหรือขนหางม้ายาวนิยมใช้หวีควบคู่กับแปรงแดนดี้หรือแปรงขนแข็ง
ส่วนม้าที่ขนสวยใช้ในการโชว์หรือประกวดจะหลีกเลี่ยงการจับขนด้วยมือเพราะอาจทำให้ขนขาดหรือหลุดล่วงได้
แปรงหรือหวีที่มีซี่ฟันสั้นและถี่มักใช้ในการหวีเพื่อการถักเปียม้า
6. อุปกรณ์แคะกีบม้า (Hoof pick)
กีบของม้าเป็นบริเวณที่ม้าต้องใช้สัมผัสกับหญ้า พื้นดิน ทราย น้ำและอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นบริเวณนี้จึงสกปรกง่ายและต้องการการทำความสะอาดบ่อยๆ ในปัจจุบันได้มีการออกแบบอุปกรณ์แคะกีบม้าให้มีทั้งส่วนที่เป็นโลหะปลายแหลม ใช้ในการแคะกีบและแปรงขนแข็งอยู่ในด้ามเดียวกันเพื่อเหมาะกับการทำความสะอาดคราบโคลนและสิ่งสกปรกต่างๆ
7. กราดเหงื่อหรือกราดน้ำ (Sweat scraper)
ใช้ในการปาดเหงื่อที่เกิดจากการใช้งานม้าหรือใช้รีดน้ำหลังจากการอาบน้ำเพื่อทำให้ตัวม้าแห้งเร็วขึ้น อุปกรณ์มีลักษณะคล้ายกับที่รีดน้ำบนกระจก แต่ต่างกันตรงที่มีลักษณะเป็นแนวโค้ง วัสดุที่นำมาใช้ก็จะเป็นยาง พลาสติกหรือโลหะส่วนบางรุ่นมีการออกแบบให้เป็นหวีด้านหนึ่งและกราดน้ำอีกด้านหนึ่งไว้ภาย
ในอันเดียวกันเพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน
8. ฟองน้ำ (Sponge)
ฟองน้ำเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการอาบน้ำม้า หรือ ทำความสะอาดเฉพาะจุดโดยการชุบน้ำพอหมาด เช็ดในบริเวณที่ต้องการ โดยใช้ฟองน้ำขนาดเล็ก 1 ชิ้น ในการทำความสะอาดตา จมูก ริมฝีปาก และ อีก 1 ชิ้นสำหรับใต้ท้องและบริเวณรอบอวัยวะสืบพันธุ์ (เราควรแยกใช้ฟองน้ำในส่วนนี้กับบริเวณใบหน้าของม้า ) ส่วนบริเวณลำตัวและขาม้า ให้ใช้ ฟองน้ำขนาดใหญ่ 1 ชิ้น
9. แปรงทาน้ำมันบำรุงกีบม้า (Hoof oil)
กีบม้าเป็นส่วนที่สำคัญที่ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ การไม่ได้รับความใส่ใจที่ดีพอ อาจทำให้กีบม้า แห้งและแตกออกเกิดเป็นโพรงและติดเชื้อได้ จึงควรมีการบำรุงกีบด้วยการใช้แปรงทากีบม้าจุ่มน้ำมันและทาบำรุงกีบม้าหลังจากทำความสะอาดกีบอย่างสม่ำเสมอโดยทาเป็นแนวขว้างหรือแนวขนานกับพื้นจากด้านบนลงด้านล่าง
ขั้นตอนการทำความสะอาดม้า
การทำความสะอาดแบบแห้งนี้ สามารถทำได้ทุกวันหรือเมื่อต้องการได้ดังนี้
1. ใช้หวีเคอรี่หรือแปรงยาง (Curry Comb) นวดเป็นรูปวงกลมให้โคลนหรือสิ่งสกปรกขนาดใหญ่แตกและหลุดออกได้ง่าย
2. ใช้แปรงขนแข็ง (Dandy Brush) ปัดให้สิ่งสกปรกขนาดใหญ่ที่หลงเหลืออยู่นั้นออกไป
3. ใช้แปรงขนอ่อน (Body Brush) แปรงขนขจัดฝุ่นและสิ่งสกปรกขนาดเล็กและแปรงขนเงางาม
4. ใช้หวีแผงคอและหาง
5. ใช้อุปกรณ์แคะกีบและแปรงกีบ
6. ใช้ผ้าขนหนู ปัด
การอาบน้ำม้า
ม้าทั่วไปไม่จำเป็นต้องได้รับการอาบน้ำทุกวันหรือบ่อยครั้งเท่ากับการทำความสะอาดแห้งด้วยแปรงและอุปกรณ์ทำ
ความสะอาดม้าต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้น
แต่การอาบน้ำม้าจะนิยมทำหลังจากที่ม้าออกกำลังกายหรือถูกใช้งานในกิจกรรมหนักๆซึ่งทำให้มีเหงื่อออกมากหรือเปรอะเปื่อนกับสิ่งสกปรกจากการทำกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งการอาบน้ำนอกจากทำให้ม้าสะอาดแล้วยังช่วยคลายความร้อนและผ่อนคลายให้ม้าหลังจากการออกกำลังกายอีกด้วย
วิธีการอาบน้ำม้ามีขั้นตอนดังนี้
1. ก่อนอาบน้ำจะควรทำความสะอาดแห้งม้าก่อน ตามขั้นตอนข้างต้นที่ได้กล่าวไปแล้ว
2. ผสมแชมพูม้ากับน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นเล็กน้อย ตีให้เกิดฟอง (ควรใช้แชมพูสำหรับม้าโดยเฉพาะหรือแชมพูมีความระคายเคืองต่ำ)
3. ใช้ฟองน้ำจุ่มน้ำที่ผสมแชมพูนั้น แล้วถูลงบนลำตัวของม้า โดยเริ่มจากขาม้าก่อนแล้วค่อยๆสูงขึ้น (ยกเว้นบริเวณหัว)
4. อาจใช้อุปกรณ์อื่นๆ ในการนวดและแปรงเพื่อช่วยขจัดสิ่งสกปรกบนตัวม้าออก เช่น แปรงยาง, ถุงมือยาง, แปรงพลาสติก เป็นต้น
5. ล้างแชมพูออกด้วยน้ำสะอาด (อาจใช้ฟองน้ำช่วยด้วย)
6. ใช้หวีแผงคอและหางม้าทำความสะอาด (หากขนพันกัน และหวีติด ให้ใช้มือสรางออกก่อน จึงทำการหวีต่อ)
7. ใช้ฟองน้ำสำหรับหน้าของม้า จุ่มน้ำสะอาดพอหมาดเช็ดบริเวณหน้าของม้าอย่างนุ่มนวล (ห้ามใช้แชมพู)
8. ใช้กราดน้ำหรือผ้าขนหนูเช็ดให้ม้าแห้ง
9. ใช้แปรงทากีบม้าหรือแปรงอื่นๆ ทาน้ำมันบำรุงกีบม้า
10. พาเดินออกกลางแจ้งรับแดดประมาณ 10 นาที